วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552



การศึกษาศิลปะมวยไทย

ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน/ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัติย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย)และจะมีการแข่งขันต่อสู้/ประลองกันในงานวัดและงานเทศกาล โดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล/เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตน เข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ(ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย ในสมัยอยุธยา ตอนปลายได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมีหน้าที่ในการให้ การคุ้มครองกษัตริย์และราชวงศ์ ได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน)จึงมีครูมวยไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ารับราชการจำนวนมากและได้ แสดงฝีมือในการต่อสู้ในราชสำนักและหน้าพระที่นั่งในงานเทศกาลต่างๆสืบต่อกัน มาเป็นประจำ

กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำที่วังสวนกุหลาบทั้งการต่อสูประลอง ระหว่างนักมวย/ครูมวยชาวไทยด้วยกันและการต่อสู้ระหว่างนักมวย/ครูมวยต่าง ชาติ ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ด้วยหมัดเหวี่ยงควายถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขัน มวยไทยมาจนปัจจุบัน จากรูปประกอบทางขวามือ เป็นการแข่งขันชกมวยในสมัย ร.๖ คนซ้ายมือเป็นมวยเลี่ยะผะ(กังฟู)ชาวจีนโพ้นทะเล ชื่อนายจี่ฉ่าง ส่วนคนขวามือคือ นายยัง หาญทะเล จรดมวยแบบมวยโคราชซึ่งเน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้น การใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง และต่อมาได้เป็นแบบอย่างในการฝึกหัดมวยไทยในสถาบันพลศึกษาส่วนใหญ่

มวยไทย




ความหมายของคำว่า"มวย"

1. อาจมีที่มาจากลักษณะการ ม้วนเชือกหรือผ้า เพื่อใช้หุ้มฝ่ามือและท่อนแขน เพื่อใช้ป้องกันอันตรายขณะต่อสู้ หรืออาจเพิ่มอันตรายในการ ชก กระแทกฟาดโดยการผสม กับ กาวแป้ง และ ผงทราย คล้ายลักษณะของ มวยผม ของ ผู้หญิงที่นิยมไว้ผมยาว(เกล้ามวย)ได้แก่ หญิงไทย/ลาวโซ่ง/หญิงล้านนาในสมัยโบราณ หรือนักมวยจีน(มุ่นผม)ซึ่งนิยม ถักเป็นเปีย แล้วม้วนพันรอบคอ ของตนซึ่งสามารถใช้ในการต่อสู้ในบางครั้ง
2. หรือ มาจากคำภาษาบาลี ว่า " มัลละ" หมายถึง การปล้ำรัด มวยปล้ำของชาวอินเดีย

มีการต่อสู้ในลักษณะเดียวกับ มวย ของ ชาวไทย มุสลิมในท้องถิ่นทาง ภาคใต้ ตลอดจนแหลม มลายู เรียกว่า ซีละ หรือ ปัญจสีลัต มีผู้บัญญัติศัพท์ว่า มวยไทยพหุยุทธ์ โดยเปรียบว่า เป็นการต่อสู่แบบรวมเอาศิลปะการต่อสู้(Martial Art)ทุก แขนง โดยใช้อวัยวะทุกส่วนร่วมด้วยได้แก่ ...การใช้ ศีรษะ คาง เพื่อชน กระแทก โขก ยี ...ใช้ ท่อนแขน ฝ่ามือ และกำปั้น จับ ล็อก บล็อก บัง เหวี่ยง ฟัด ฟาด ปิด ปัด ป้อง ฟาด ผลัก ยัน ดัน ทุบ ชก ไล่แขน ศอก เฉือน ถอง กระทุ้ง พุ่ง เสย งัด ทั้งทำลายจังหวะเมื่อเสียเปรียบและหาโอกาศเข้ากระทำเมื่อได้เปรียบ ...ส่วนขา แข้ง เข่า ฝ่าเท้า ส้นเท้า ปลายเท้า ใช้ในการบัง ถีบ เตะ แตะ เกี่ยว ตวัด ฉัด ช้อน ปัด กวาด ฟาด กระแทก ทำให้บอบช้ำและเสียหลักและใช้ลำตัวในการการทุ่มทับจับหัก (มีคณะนักมวยดังในอดีตคือ ค่าย ส.ยกฟัด ใช้มาก)การประกอบรวมแม่แบบชุดต่อสู้รวมเรียกว่า แม่ไม้ และลูกไม้ ตามเชิงมวย หรือกลมวย